Pages

Sunday, August 23, 2020

เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงมาพร้อมกับอัตราการว่างงานสูง...รัฐบาลเอาอยู่ไหม - โพสต์ทูเดย์

takmaulaha.blogspot.com

เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงมาพร้อมกับอัตราการว่างงานสูง...รัฐบาลเอาอยู่ไหม

วันที่ 24 ส.ค. 2563 เวลา 07:05 น.

คอลัมน์เศรษฐกิจรอบทิศ

ปี 2563 ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจที่กล่าวได้ว่าสาหัสสุดไตรมาสสอง จีดีพีหดตัวถึงร้อยละ 12.2 หนักสุดในรอบสองทศวรรษพอ ๆ กับวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่รอบนี้กินลึกกระทบกว้างตั้งแต่แม่ค้าแผงลอย เกษตรกร มนุษย์เงินเดือนไปจนถึงเจ้าของธุรกิจตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ที่ไม่กระทบคงเป็นคนที่ทำงานเป็นข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจกลายเป็นที่อิจฉาเพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ไม่มีผลกระทบใด ๆ รวมไปถึงคนที่ทำงานในบริษัทที่เป็นเมกะคอมปะนีใหญ่โตจนกึ่งผูกขาดเศรษฐกิจไม่มีใครเข้ามาแข่งได้ แต่อย่างน้อยแรงงานซึ่งอยู่ในภาคส่วนเหล่านี้มีจำนวนรวมกันเกือบ 2 ล้านคนเป็นส่วนหนึ่งที่มีกำลังใช้จ่ายพอประคับประคองเศรษฐกิจในยามที่ยากลำบาก

การแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ของสภาพัฒน์ฯ (สศช.) ที่ผ่านมาชัดเจนว่าการแก้ปัญหาคงไม่ได้ง่ายขนาดทีมเศรษฐกิจ “ดร.สมคิดฯ” ยังต้องถูกเปลี่ยนตัว หากวิเคราะห์ไส้ในพบว่าดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจทุกตัวล้วนอยู่ในอาการโคม่าไล่เรียงจากการบริโภคของประชาชนหดตัวถึงร้อยละ -6.6 สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ขณะที่ดัชนีค้าปลีก   หดตัวถึงร้อยละ 9.8 สะท้อนถึงกำลังซื้อของประชาชนว่าอยู่ในสภาพอ่อนแอเหตุผลหลักมาจากรายได้ลดลงและหนี้สูงขึ้น ไม่ต้องกล่าวถึงธุรกิจและแรงงานที่อยู่ในภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมากสุดและจะเป็นภาคส่วนที่จะฟื้นตัวได้หลังสุดเมื่อไรก็ยังไม่รู้

มาดูตัวเลขการว่างงานซึ่งมีความสัมพันธ์กับภาวะเศรษฐกิจทางสศช.ระบุว่ามีประมาณ 7.45 แสนคนสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 1.95 ไม่ค่อยแน่ใจที่มาของตัวเลขลองเปรียบเทียบคนที่มีงานทำเดือนมิถุนายนปีพ.ศ.2562 ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจมีจำนวน 38.38 ล้านคนเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีนี้ (พ.ศ.2563) มีจำนวนคนที่มีงานทำ 37.42 ล้านคนลดลงไปถึง 9.6 แสนคนตรงนี้ก็ไม่ตรงกันแล้ว ตัวเลขนี้ไม่รวมเด็กจบใหม่อีก 4-5 แสนคนในช่วงโควิด-19 ระบาดเข้าใจว่าคงไม่ได้เข้าไปสำรวจเพราะไม่เห็นมีรายงานออกมา ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าแรงงานไม่ได้มีเฉพาะในระบบประกันสังคมซึ่งมีประมาณ 11.295 ล้านคน (มาตรา 33)  ยังมีแรงงานนอกระบบอีกประมาณใกล้ ๆ   สิบล้านคนหรือมากกว่าเล็กน้อยจัดเป็นกำลังแรงงานของประเทศตัวเลขนี้ไม่รวมเกษตรกร

แรงงานเหล่านี้กระจายไปทำงานอยู่ในภาคเอกชนส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว ค้าปลีก บริการและแรงงานอิสระประเมินว่า “พิษจากโควิด” ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยหายไปถึงร้อยละ 75-76 จนถึงขณะนี้ยังฟื้นตัวได้เล็กน้อยย่อมมีผลกระทบต่อหลายอาชีพตั้งแต่คนที่ทำงานในโรงแรม ที่พักอาศัย ไกด์ คนขับรถรับ-ส่งนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร-ร้านค้าตามแหล่งท่องเที่ยว ที่ผ่านมาถึงแม้จะมีโครงการไทยเที่ยวไทยซึ่งเที่ยวเฉพาะวันหยุดหรือวันหยุดยาว ๆ แต่ก็ไม่สามารถทดแทนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปหมด ด้านอุตสาหกรรมก็กระทบไม่น้อยประเมินว่ากำลังการผลิต (CPU) ขณะนี้อยู่เพียงร้อยละ 52.84 มูลค่าตัวเลขส่งออก 2 เดือนที่ผ่านมา หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 21.7 ในเชิงปริมาณหดตัวสูงถึงร้อยละ 28.3 จากข้อมูลพบว่าสองในสามของอุตสาหกรรมส่งออกหดตัวต่อเนื่องมาปีครึ่งแล้ว ลองคิดดูคนหรือแรงงานที่ทำงานอยู่ในภาคส่วนจะยังอยู่สุขสบายหรือไม่จากข้อมูลเดือนมิถุนายนมีโรงงาน 3,985 แห่งปิดกิจการชั่วคราวมีแรงงานประมาณ 8.026 แสนคน ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรม     ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก โลหะ ภาคบริการ เช่น โรงแรม ค้าปลีก ขนส่ง อาหาร ฯลฯ  แต่ยังดีที่มีการจ่ายเงินค่าจ้างบางส่วนจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการว่างงานที่ตัวเลขรวมกันคาดว่ากลุ่มเสี่ยงมีอยู่ถึง 2.18 ล้านคน

เศรษฐกิจที่ทรุดติดลบถึงสองหลักย่อมมีผลกระทบแน่นอนต่อตลาดแรงงานไม่ใช่เรื่องที่ทีมเศรษฐกิจหรือกระทรวงแรงงานจะมาโต้เถียงว่าตัวเลขไม่มีที่มาที่ไปคนตกงานมีไม่มาก การแก้ปัญหาของรัฐบาลต้องรับฟังรอบด้านแม้แต่เด็ก ๆ ที่มาเรียกร้องว่าปัญหาอยู่ตรงไหนอย่าปฏิเสธหรือไปดิสเครดิต ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงย่อมมาพร้อมกับอัตราว่างงานที่สูงอย่าไปบอกว่ากระทรวงแรงงานมีนายจ้างต้องการคนเป็นหลักแสนบางทีข้อมูลก็ขัดแย้งกันเอง แต่ดีที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเป็นปัญหาเร่งด่วนมีการบรรจุเป็นวาระในครม.สัญจรจังหวัดระยอง    (25 ส.ค.) จะมีการนำเสนอแผนการจ้างงานและแก้ปัญหาการว่างงานอย่างเป็นระบบเห็นคุยว่าจะสร้างงานได้เป็นล้านตำแหน่ง

ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากโควิด-19 การว่างงานเป็นปัญหาระดับโลกองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประเมินว่าทั่วโลกมีคนตกงานกว่า 100 ล้านตำแหน่ง ทุกประเทศล้วนอยู่ในช่วงที่ยากลำบากแต่ละประเทศเศรษฐกิจหดตัวรุนแรง กรณีประเทศไทยเศรษฐกิจหดตัวไตรมาส 2 ว่าแย่แล้วแต่มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ล้วน   หดตัวมากกว่าไทย สหภาพยุโรปเศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 15 สหรัฐเศรษฐกิจติดลบร้อยละ 9.5  ญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ 7.8  มีเพียงประเทศจีนไตรมาสแรกติดลบร้อยละ 6.8 ไตรมาสสองกลับมาเป็นบวกร้อยละ 3.2 เนื่องจากติดโควิดก่อนประเทศอื่นและหายก่อนใคร

หากสมมุติว่ามีการพบวัคซีนซึ่งวันนี้ยังอยู่ในระยะทดลองที่หวังว่ากำลังซื้อที่จะกลับมาในเร็ววันคงไม่ได้ง่ายมีการประเมินว่าอาจต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปีจึงจะกลับเหมือนเดิม การวางแผนเศรษฐกิจจึงต้องเป็นแบบประคับประคองไม่ให้เศรษฐกิจทรุดไปมากกว่าเดิม อย่าไปใช้มาตรการไกลตัวเห็นผลยากใช้ระยะเวลาหลายปี เช่น    จะใช้เศรษฐกิจภายในเป็นหัวจักรขับเคลื่อนไม่พึ่งส่งออก-การลงทุนทางตรงหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติลองคิดดูปีที่แล้วเกือบ 40 ล้านคนเอาเงินมาใช้จ่ายมากกว่า 2 ล้านล้านบาท การท่องเที่ยวในประเทศถึงมีคนมากแต่มูลค่าเพียงแค่ครึ่งเดียวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้งโรงแรม-รีสอร์ท-ธุรกิจที่เกี่ยวกับท่องเที่ยวถูกออกแบบมารองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมาก ๆ จะทำอย่างไร เศรษฐกิจไทยมากกว่าครึ่งหนึ่งพึ่งพาส่งออกทั้งด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และบริการจะทำอย่างไรล้วนเป็นคำถามมากกว่าเป็นคำตอบ

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ครม.จะเคาะออกมาใหม่ให้ไปดูว่างบประมาณเดิมที่ออกพรก.กู้เงิน  1.9 ล้านล้านบาทเงินมีแต่ไปติดขัดอะไรจึงใช้ไม่ได้ เช่น ซอฟต์โลนดอกเบี้ยต่ำเงินยังเหลือมากเพราะแบงก์ไม่กล้าปล่อย ขณะที่เงินเยียวยาสี่แสนล้านบาทออกมาหลายเดือนป่านนี้ใช้เงินได้ไม่เท่าใด ยังไม่รวมพรก.เงินกู้ความมั่นคงกองทุนตลาดพันธบัตร (BSF)  อีกสี่แสนล้านบาทที่ทราบว่ายังไม่ไปถึงไหนยังไม่รวมภาวะแทรกซ้อนวิกฤตการเมืองนอกสภาที่ผู้คนจำนวนมากออกมาชู 3 นิ้วหรือผูกโบว์สีขาว พวกนี้รอทีมงานเศรษฐกิจที่นายกรัฐมนตรีเลือกมากับมือให้เข้ามาแก้ปัญหา ที่ผ่านมาช้าไปมากแล้ว....เอาอยู่ไหมครับ

Let's block ads! (Why?)



"ด้านอุตสาหกรรม" - Google News
August 24, 2020 at 07:07AM
https://ift.tt/2EpNdF0

เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงมาพร้อมกับอัตราการว่างงานสูง...รัฐบาลเอาอยู่ไหม - โพสต์ทูเดย์
"ด้านอุตสาหกรรม" - Google News
https://ift.tt/2XRQMK3

No comments:

Post a Comment