เปิดผลการศึกษาของ กมธ.ที่ดินฯ
รายงานผลการพิจารณาศึกษากรณีเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นเส่วนหนึ่งของผลการศึกษาเรื่อง ปัญหาที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน เป็นประธาน ได้เสนอแนะว่า
“คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาทบทวนการอนุมัติการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยควรให้ทำการประเมินโครงการที่มีความสมบูรณ์มากขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการวิเคราะห์เชิงปริมาณที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะการประมาณมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน และมีหลักฐานสนับสนุนข้อสรุปที่ชัดเจนมากขึ้น ก่อนที่จะพิจารณาให้ดำเนินโครงการดังกล่าว”
ทั้งนี้รายงานฉบับนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอไปยังสภาพผู้แทนฯ
ที่มาของโครงการ
ศูนย์อำนวยการบริหารจัดการชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่งยั่งยืน” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 อำเภอหลัก ได้แก่ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบการค้าชายแดนระหว่างประเทศ รวมทั้งในอนาคตจะได้มีการกำหนดให้อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อพัฒนาเป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เป็นกลไกภาคอุตสาหกรรมรองรับการพัฒนาในภูมิภาคใต้ตอนล่าง
ทั้งนี้อำเภอจะนะ มีกรอบเวลาจะดำเนินการในระยะที่ 2 หลังจากเมืองหลัก 3 เมืองสามารถดำเนินการไปได้ในห้วงเวลาหนึ่งแล้ว และจะนำไปสู่การเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อจังหวัดที่มีศักยภาพ เช่น จังหวัดสงขลา โดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 อนุมัติหลักการโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบหลักการการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” และการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาพื้นที่เฉพาะกิจเมืองต้นแบบฯ และให้ศอ.บต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามนัยมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาชายแดนภาคใต้ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 โดยมีศอ.บต.เป็นหน่วยงานดำเนินการหลัก
ภาพรวมของโครงการ
โครงการเมืองต้นแบบที่ 4 “เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ จะมีการลงทุนบนพื้นที่ 16,753 ไร่ ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 18,680 ล้านบาท โดยคาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 100,000 อัตรามีกิจกรรม 6 ประเภท ได้แก่ 1.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมเบา มีขนาด 4,253 ไร่ 2. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมหนัก มีขนาด 4,000 ไร่ 3. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า มีขนาด 4,000 ไร่ 3. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ มีขนาด 2,000 ไร่ 4. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า (Logistic Center) มีขนาด 2,000 ไร่ 5.พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย (Smart City) มีขนาด 500 ไร่
ทั้งนี้ภาคเอกชนในฐานะหน่วยงานร่วมพัฒนากับรัฐและประชาชน จะแบ่งการลงทุนออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 จะมีการลงทุนบนพื้นที่ 10,500 ไร่ ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 11,697 ล้านบาท มีกิจกรรม 6 ประเภท ได้แก่ 1.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา มีขนาด 1,000 ไร่ 2. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า มีขนาด 4,000 ไร่ 3.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ มีขนาด 2,000 ไร่ 4.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า (Logistic Center) มีขนาด 2,000 ไร่ 5.พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย (Smart City) มีขนาด 500 ไร่
โครงการสวนอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภอจะนะ เป็นแผนการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งประกอบด้วย กิจการที่เกี่ยวข้อง 7 ประเภท ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมหนัก อาทิ อุตสาหกรรมผลิตกังหันลมและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า อุตสาหกรรมผลิตหัวรถจักรและแคร่ขนตู้สินค้า อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 2. อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของเขตเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอจะนะ ในอนาคต ศอ.บต.และบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)ในฐานะผู้ลงทุน เห็นว่าจำเป็นต้องมีการลงทุนด้านพลังงานในพื้นที่ 3. อุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือเป็นอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากการสร้างท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2
4. อุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า (Logistic Center) 5.ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย (Smart City)เป็นเมืองที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับแรงงานในสวนอุตสาหกรรม มีระบบคมนาคมแก่ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่และบริเวณรอบนอก 6. อุตสาหกรรมเบา 7.อุตสาหกรรมการเกษตร
ความเห็นของภาคประชาชน
ข้อมูลและข้อคิดเห็นจากภาคประชาชน ต่อโครงการเขตพัฒนาพื้นที่เฉพาะกิจ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” อำเภอจะนะ 1.การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมีอย่างจำกัดมาก อาทิ ศอ.บต.ไม่มีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างเปิดเผย มีแต่เพียงการจัดเวทีเล็กๆ ในชุมชนจำนวน 31 ครั้ง ซึ่งมีเพียงคนส่วนน้อยที่ได้ร่วม และไม่มีความชัดเจนในการให้ข้อมูลโครงการ การมาจัดเวทีที่ผ่านมา เป็นเพียงการระดมปัญหาที่ชาวบ้านประสบ เช่น การถือครองที่ดิน การประกอบอาชีพ ไปให้ศอ.บต. แก้ปัญหาเท่านั้น ไม่อาจนับเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ ขณะที่ศอ.บต.ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลให้กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในอำเภอจะนะและคนทั่วไป
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการกว้านซื้อที่ดินอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ 3 ตำบลที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประชาชนในพื้นที่ต้องการทราบว่า ใครเป็นคนกว้านซื้อ ใช้ชื่อใครหรือนอมินีคนใดในการถือครองที่ดิน ปัจจุบันที่ดินอยู่ในมือใครจำนวนเท่าใด ซึ่งความโปร่งใสในเรื่องการกว้านซื้อและถือครองที่ดิน จะนำมาซึ่งความเข้าใจต่ออนาคตที่จะเกิดขึ้นที่อำเภอจะนะ โดยที่ดินบริเวณตำบลนาทับ หลายพื้นที่ชาวบ้านบอกว่าเป็นดินสาธารณะ แต่ต่อมาสามารถออกโฉนดได้ ซึ่งอาจเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบ และมีการขายให้แก่ผู้รวบรวมที่ดิน กรณีดังกล่าวที่มีการลือกันนั้น ขอให้รัฐมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวว่าเท็จจริงดังกล่าว
ประมงพื้นบ้าน-ชุมชนตายสนิท
การสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่จะเกิดขึ้นที่บ้านสวนกงนั้น มีการออกแบบเป็นท่าเรือบนฝั่ง ทั้งที่ทะเลจะนะมีความลาดชันต่ำ มีการกำหนดว่า ท่าเรือจะมีศักยภาพในการรับเรือ panamax ขนาด 40,000 DWT(Deadweight Tonnage) ซึ่งจะกินน้ำลึก 12.5 เมตร แต่ท่าเรือยื่นจากฝั่งเพียงไม่ถึง 2 กิโลเมตร ซึ่งมีความลึกของน้ำเพียง 5-6 เมตร จึงทำให้ต้องขุดทะเลมาก น้ำจะขุ่น เรือที่เข้าออกทุกวัน จะทำให้ทะเลจะนะไม่สามารถหาสัตว์ทะเลได้อีกต่อไป แท้จริงหากจะรับเรือที่กินน้ำลึก 10 เมตร ต้องออกไปจากฝั่ง 5 กิโลเมตร คำถามสำคัญคือทำไมกรมเจ้าท่าจึงออกแบบเช่นนี้ และไม่สนใจผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่เลยหรือ
ชาวประมงพื้นบ้าน มั่นใจว่า การมีท่าเรือน้ำลึกแห่งนี้จะส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของทะเลอย่างหนัก และ สายพานอุตสาหกรรมการประมงที่ดูแลคนเป็นหมื่นคนก็จะสะดุด ทำให้คนในสายพานการประมงพื้นบ้านใน 3 ตำบลนับหมื่นคนต้องยากจนลง มีชีวิตที่ยากลำบากขึ้น ทางรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำยากจนในพื้นที่จะนะอย่างไร
อำเภอจะนะมีฐานทุนชีวิตและศักยภาพที่สำคัญหลาย ๆ ด้าน สายพานอุตสาหกรรมการเลี้ยงนกเขาที่มีตั้งแต่เลี้ยงหนอนนก ทำนาปลูกข้าวนก เลี้ยงนก ผสมพันธ์นก ขายนก ส่งนกให้ถึงจุดหมาย หาไม้ไผ่หรือหวายมาทำกรง เหลาไม้ไผ่ ประกอบกรงนก ขายกรง ส่งกรง ทำไม้หัวกรง ทำตะขอแขวนกรง ทำผ้าคลุมกรง ทำถ้วยหินอ่อนใส่น้ำใส่ข้าวนกสำหรับไว้ในกรง ทำเสาชักรอกไว้แขวนนก จัดการแข่งขันนก ทั้งหมดนี้ทำให้คนจะนะมีงานทำ มีรายได้ มีความสุข ร่วม 10,000 คน โดยที่รัฐแทบจะไม่ได้มาส่งเสริม เป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความเป็นจะนะ เป็นความยั่งยืนที่ไม่แปลกแยกและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมจะนะขนาดใหญ่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนกเขาเสียงหรือไม่ มีการศึกษาไว้บ้างแล้วหรือไม่
สายพานอุตสาหกรรมการประมงก็ดูแลคนเป็นหมื่นคน ชาวประมงออกทะเลจับปลาแทบทุกวัน อาชีพการถักอวนซ่อมอวน การซ่อมเรือ แม่ค้าขายปลา โรงงานน้ำแข็ง คนขับรถส่งปลาไปขายต่างอำเภอ ร้านอาหาร อุตสาหกรรมห้องเย็น โรงงานอุตสาหกรรมทำปลากระป๋องหรืออาหารทะเลแช่แข็ง บริษัทส่งออกทั้งหมดนี้เป็นหมื่นชีวิตที่จะลำบากหากทะเลจะนะเปลี่ยนไป ผลกระทบต่อทะเลและวิถีชีวิตชาวประมงจะเป็นอย่างไรมีการศึกษาไว้บ้างหรือไม่ คุ้มค่าแล้วหรือกับความสูญเสียในภาคการประมง
สะบั้นสายพานการศึกษา-ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
อำเภอจะนะ มีสายพานอุตสาหกรรมการศึกษาก็เจริญก้าวหน้ามาก มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามกว่า 30 แห่ง มีนักเรียนทั้งหมดร่วมหมื่นคน เกือบครึ่งเป็นนักเรียนจากต่างพื้นที่ อุตสาหกรรมการศึกษาที่คนจะนะสร้างขึ้นมาเองอย่างต่อเนื่องยาวนาน หล่อเลี้ยงทั้งอุดมคติและชีวิตของทั้งครู ภารโรง แม่ค้าขายอาหารทั้งในและหน้าโรงเรียน ร้านเครื่องเขียน ร้านถ่ายเอกสาร ร้านขายเสื้อผ้าอุปกรณ์การศึกษา คนปลูกผัก คนเลี้ยงไก่ หรือแม้แต่ฝ่ายความมั่นคงที่มาทำหน้าที่ดูแลโรงเรียน คนหลายหมื่นคนเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในอุตสาหกรรมนี้ ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการศึกษาจะเป็นอย่างไร มีการศึกษาไว้บ้างหรือยัง คุ้มค่าแล้วหรือกับความสูญเสียในภาคการบริการของอุตสาหกรรมการศึกษา
สายพานอุตสาหกรรมยางพาราก็ยิ่งใหญ่ไม่น้อย ทั้งชาวสวนยาง คนรับจ้างกรีดยาง ร้านรับซื้อขี้ยาง ร้านรับซื้อน้ำยาง ร้านขายปุ๋ย คนรับจ้างใส่ปุ๋ยฉีดยาฆ่าหญ้า ร้านขายอุปกรณ์การเกษตร ร้านเพาะกล้ายาง สหกรณ์การเกษตร โรงงานผลิตยางแท่งยางก้อน ยาวไกลถึงบริษัทส่งออก ซึ่งดูแลคนหลายหมื่นคน แม้ยางจะราคาตกแต่ก็แทบไม่มีคนตัดยางเลิกตัดยางไปเข้าทำงานโรงงาน เพราะอย่างไรเสียรายได้ตัดยางก็มากกว่า มีเสรีภาพมากกว่าและมีความสุขกับชีวิตและครอบครัวได้มากกว่า การเปลี่ยนจะนะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหนัก จะยิ่งทำให้อากาศร้อน ขาดแคลนน้ำใต้ดิน ส่งผลต่อสวนยาง นาข้าว การทำสวนผลไม้ การปลูกแตงโมฟักทองหรือพืชไร่ต่าง ๆ หรือไม่
การท่องเที่ยงเชิงนิเวศในหลายพื้นที่ที่เริ่มไปได้ดี เช่น สวนกงเป็นสวรรค์ของคนกินปู คลองนาทับมีสภาพธรรมชาติที่สวยงาม มีการล่องแพคลองนาทับ มีกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนเกาะคูน้ำรอบ มีการท่องเที่ยวชายหาดสะกอม เทพาและเกาะขาม การท่องเที่ยวชุมชนเป็นหัวใจสำคัญของการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำในชุมชน และจะนะยังมีศักยภาพในการส่งเสริมกิจกรรมและกลุ่มการท่องเที่ยวชุมชนหรือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อีกหลายพื้นที่ ทั้งหมดนี้จะได้รับกระทบมากน้อยเพียงใดจากการเปลี่ยนจะนะเป็นนิคมอุตสาหกรรมหนักหมื่นไร่ ได้มีการศึกษาไว้แล้วหรือไม่
สารพันปัญหาที่จะตามมา
ปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้น ปัญหาการชาวบ้านให้โยกย้ายออกจากที่ดินโดยไม่สมัครใจ ปัญหาความไม่ชัดเจนและข้อมูลรองรับในแก้ไขปัญหาผลกระทบกับชุมชน เช่น การกล่าวถึงหมู่บ้านเปี่ยมสุขเป็นพื้นที่รองรับผู้ที่ต้องถูกโยกย้าย แต่ไม่ปรากฏว่ามีข้อมูลความชัดเจนเกี่ยวกับหมู่บ้านดังกล่าว
การเปลี่ยนจะนะให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหนัก 16,753 ไร่ในเบื้องต้นนั้น จะเป็นเช่นกรณีของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดหรือไม่ ที่ทำให้จังหวัดระยองที่เดิมเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวตากอากาศของประเทศไทย ได้เปลี่ยนไปจนปัจจุบัน ภาคการท่องเที่ยวหดตัวลงทุกปี ขณะที่จังหวัดสงขลา โดยเฉพาะอำเภอหาดใหญ่ที่ห่างไปเพียง 35 กิโลเมตรนั้นมีเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมาก หากภาพลักษณ์ของสงขลาเต็มไปด้วยโรงงาน มลพิษ อากาศเสีย ฝุ่นควัน ทั้งหมดนี้เศรษฐกิจและภาพลักษณ์ในระยะยาวของจังหวัดสงขลา จะได้รับกระทบมากน้อยเพียงใดจากการเปลี่ยนจะนะเป็นนิคมอุตสาหกรรมหนักหมี่นไร่ ได้มีการศึกษาไว้แล้วหรือไม่
โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 และโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราเชื่อมต่อ 2 ท่าเรือด้วยแลนบริจด์รถไฟรางคู่ คือโครงการเดียวกัน และในปัจจุบันนี้ทางรัฐบาลก็มีการฟื้น การผลักดันโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราอย่างหนัก ซึ่งแน่นอนว่าหากเกิดท่าเรือน้ำลึกปากบารา ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตคนสตูล รวมทั้งมีผลต่ออุทยานธรณี(Geopark) อุทยานธรณีโลกที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) ได้ประกาศไว้ และจะส่งผลในระยะยาวโดยเปลี่ยนจังหวัดสตูลเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหนักด้วย เมื่อเกิดท่าเรือน้ำลึกสงขลาสอง ท่าเรือน้ำลึกปากบาราก็ย่อมจะต้องสร้างตามมา ทั้งหมดนี้เศรษฐกิจและภาพลักษณ์ในระยะยาวของจังหวัดสตูลจะได้รับกระทบมากน้อยเพียงใดมีการศึกษาไว้แล้วหรือไม่
ผลการพิจารณา
จากการพิจารณาศึกษา ในประเด็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะมีข้อสังเกตและข้อคิดเห็นดังนี้ 1.เกี่ยวกับประโยชน์ที่จะตกแก่แรงงานในพื้นที่จากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น 100,000 อัตรา มีข้อสังเกตคืออัตราการว่างงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในระดับที่ต่ำ จึงยังสรุปไม่ได้ว่าโครงการจะสร้างงานในพื้นที่ดังกล่าว หรือทดแทนงานที่มีอยู่เดิม 2.ข้อสังเกตเกี่ยวกับ การวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจส่วนรวม ข้อสรุปว่าโครงการจะเกิดความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจส่วนรวมไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเนื่องจากไม่มีการประเมินข้อดีข้อเสียเชิงปริมาณ และไม่ได้พิจารณาองค์ประกอบสำคัญหลายส่วน 3. ข้อสังเกตเกี่ยวกับการวิเคราะห์ต้นทุน – ผลประโยชน์ Cost-Benefit Analysis และเหตุผลการขอการสนับสนุนจากสานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment : BOI) ข้อมูลที่ปรากฏในรายงานยังทำให้ไม่สามารถสรุปได้ว่าการไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จาก BOI จะเป็นปัจจัยที่ทำให้โครงการไม่สำเร็จ
4. ข้อสังเกตเกี่ยวกับ ในเขตพื้นที่อำเภอจะนะ และต่อเนื่องกับพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มีเขตพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะสามารถรองรับแรงงานในพื้นที่ที่มีอยู่จำนวนมาก 5. ข้อสังเกตเกี่ยวกับ ข้อเสนอเรื่องจุดแข็งด้านความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์ สงขลามีจุดแข็งด้านทรัพยากรมนุษย์ที่ทำให้เหมาะสมต่อการตั้งโครงการมีปัญหา อาทิ การขาดข้อมูลว่า อุตสาหกรรมที่จะมาตั้งต้องการบัณฑิตระดับอุดมศึกษาเท่าใด ควรมีการวิเคราะห์ความต้องการแรงงานของอุตสาหกรรมในพื้นที่ 6. ข้อสังเกตเกี่ยวกับ การวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รายงานไม่ได้วิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพียงแต่ระบุว่าโรงงานที่จะตั้งในโครงการต้องผ่านเกณฑ์ของกฎหมายใดบ้าง และอุตสาหกรรมในโครงการมีลักษณะมลพิษหรือผลกระทบรูปแบบใดบ้าง
7. ข้อสังเกตเกี่ยวกับ มาตรการ “เยียวยาผลกระทบ” ต่อประชาชน การวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่สมบูรณ์ จึงไม่สามารถระบุผู้ได้รับผลกระทบและควรได้รับการเยียวยาได้ และประเมินมูลค่าการเยียวยาไม่ได้ 8. ข้อสังเกตจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ที่จัดโดยศอ.บต. 1)ในข้อคิดเห็นสำคัญจากประชาชนในพื้นที่ คือ ประชาชนท้องถิ่นจะได้ประโยชน์อะไร จากการพัฒนาเขตพัฒนาเฉพาะกิจอำเภอจะนะ เช่น การสร้างนิคมอุตสาหกรรมและการสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2 ในทางกลับกัน ชุมชนจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็น ผลกระทบกับการประกอบอาชีพประมง อาชีพการเกษตร รวมถึงปัญหาผลกระทบต่อน้ำอุปโภคและบริโภค ปัญหาการทำลายระบบนิเวศ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการจัดการขยะ และปัญหาสังคมต่างๆ ล้วนเป็นคำถามสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้านและมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่
สรุปและข้อเสนอแนะในการดำเนินการ
ปัญหาที่สำคัญคือ 1. ไม่มีการประเมินข้อดีข้อเสียเชิงปริมาณของผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวมที่สมบูรณ์ เช่น รายได้ที่รัฐจะสูญเสียไป และผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมอื่น (เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมประมงพื้นบ้าน) 2. ตัวเลขที่ใช้ในการวิเคราะห์ไม่มีที่มาที่ชัดเจน เช่น โครงการจะทำาให้เกิดการจ้างงาน 1 แสนตำแหน่งและเกิดประโยชน์จากการหมุนเวียนของการจ้างงานมากกว่า 3.6 หมื่นล้านบาทต่อปีได้อย่างไร 3. ข้อสรุปที่นำเสนอ ไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลสนับสนุนที่เพียงพอ หรือไม่มีความเชื่อมโยงเหตุผลที่ชัดเจน เช่น โครงการช่วยการแก้ปัญหาความยากจนและความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร 5. รายงานขาดการพิจารณาประเด็นอื่น ๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นดังนั้น จึงไม่สามารถสรุปได้ว่า โครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการจ้างแรงงานในพื้นที่ และส่งผลกระทบทางบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวมและความมั่นคงในพื้นที่ได้
คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาทบทวนการอนุมัติการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยควรให้ทำการประเมินโครงการที่มีความสมบูรณ์มากขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง มีการวิเคราะห์เชิงปริมาณที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะการประมาณมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน และมีหลักฐานสนับสนุนข้อสรุปที่ชัดเจนมากขึ้น ก่อนที่จะพิจารณาให้ดำเนินโครงการดังกล่าว
——————–
"ด้านอุตสาหกรรม" - Google News
July 12, 2020 at 05:29PM
https://ift.tt/2Wbb3KS
สำนักข่าวชายขอบ - คนชายข่าว คนชายขอบ - Transborder Reporters
"ด้านอุตสาหกรรม" - Google News
https://ift.tt/2XRQMK3
No comments:
Post a Comment