Pages

Saturday, July 25, 2020

อาศรมมิวสิก โดย สุกรี เจริญสุข : วงออเคสตราอาชีพ เพื่อบันทึกเสียงประกอบภาพยนตร์ - มติชน

takmaulaha.blogspot.com

เมื่อวันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2563 ผู้บริหารสตูดิโอ 28 ได้แวะมาเยี่ยม มีคุณรพีเดช กุลบุศย์ ผู้อำนวยการดนตรีห้องบันทึกเสียง พร้อมด้วยคุณพรหมสร ริ้วภากร (แฟง) ซึ่งเป็นเจ้าของ และคุณสุพิสาร์ วิลเลี่ยมสัน (เล็ก) เป็นผู้จัดการ ได้เข้ามาพบและหารือกันเรื่องการพัฒนาวงออเคสตราอาชีพ เพื่อรองรับงานบันทึกเสียงเพลงประกอบภาพยนตร์ เพราะพบว่างานที่มีอยู่ในปัจจุบันในเมืองไทย เป็นงานที่รับมาเป็นลำดับรองๆ เกือบเหลือเลือก เมื่อมีลูกค้าในตลาดงานภาพยนตร์จ้างเพื่อใช้วงออเคสตราบันทึกเสียงประกอบ เหตุผลที่เขามาบ้านเราเพราะว่าเรามีห้องบันทึกเสียงที่สมบูรณ์และมีความพร้อมสูง

นักศึกษารุ่นคุณพรหมสร ริ้วภากร (แฟง) นิยมร้องเพลงเพื่อสอบเข้าเรียนดนตรี รับอิทธิพลเพลงจากภาพยนตร์เรื่องไททานิก พ.ศ.2542 การสร้างความน่าเชื่อถือในการเรียนดนตรีว่าเก่ง มีเกียรติและเชื่อถือได้ ในปี พ.ศ.2548 ได้ให้การสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย” (Season Change) เพื่อสร้างมิติใหม่ด้านการศึกษาดนตรีและดนตรีประกอบภาพยนตร์

สำหรับเพลงประกอบภาพยนตร์ของฝรั่งที่มีอยู่ในตลาดนานาชาตินั้น บริษัทที่ถ่ายทำภาพยนตร์จะให้นักแต่งเพลงทำงานไปพร้อมๆ กับฉากในภาพยนตร์ เมื่อถ่ายทำภาพเสร็จในส่วนของดนตรีประกอบก็ทำเสร็จด้วย โดยมีเพลงต้นฉบับเดโม (Demo) เพื่อให้ไปตัดต่อภาพยนตร์ได้ หลังจากนั้นผู้จัดการภาพยนตร์ต้องหาผู้ควบคุมวงดนตรี หาวงออเคสตราเพื่อบันทึกเสียงจริงที่จะใช้ในภาพยนตร์ต่อไป

โดยทั่วไป บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์จะไม่นิยมใช้วงออเคสตราจากยุโรปหรือจากอเมริกา จะไปเลือกวงออเคสตราในลำดับรองๆ ลงมา เว้นแต่ภาพยนตร์ที่มีทุนหนา ต้องการขายภาพลักษณ์และความยิ่งใหญ่ เพราะวงออเคสตราในลำดับต้นๆ ทั้งในอังกฤษและในอเมริกานั้น เป็นวงออเคสตราที่มีราคาค่าตัวที่แพง เพราะนักดนตรีของเขามีสมาพันธ์ ซึ่งจะต้องจ้างในราคาที่กฎหมายบังคับ เป็นค่าตัวนักดนตรี
ที่แพงมาก

ลำดับต่อไปก็จะเลือกวงออเคสตราในยุโรปตะวันออก อาทิ วงออเคสตราที่กรุงปราก ในสาธารณรัฐเช็ก วงออเคสตรากรุงบูดาเปสต์ ฮังการี ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีนักดนตรีที่มีฝีมือดี มีประสบการณ์สูง ที่สำคัญคือ มีค่าตัวต่ำกว่ายุโรปตะวันตก ต่ำกว่าอังกฤษ และต่ำกว่าค่าตัวที่อเมริกา นักดนตรีในประเทศแถบยุโรปตะวันออกจึงเป็นนักดนตรีเป้าหมาย งานรับจ้างแสดงหรือบันทึกเสียงทุกชนิด รวมทั้งการสวมเสื้อใส่แทน เป็นนักดนตรีสำรองแสดงในนามวงออเคสตราต่างๆ พวกวงที่เดินทางมาแสดงในภูมิภาคตะวันออกรวมทั้งการมาแสดงในเมืองไทยด้วย จะมีนักดนตรีรับจ้างเล่นแทนจำนวนมาก

หากวงออเคสตราที่ราคาต่ำกว่านั้นก็มีวงออเคสตราจีน วงออเคสตราญี่ปุ่น วงออเคสตราเกาหลี หากมีเรื่องยุ่งยากและค่าใช้จ่ายสูง โอกาสก็จะตกมาถึงฝีมือวงของไทย ปัญหาของวงออเคสตราในไทยนั้น มีคุณภาพที่เสี่ยงและไม่ได้มาตรฐาน อยู่ที่ฝีมือนักดนตรีมีคุณภาพเสียงไม่ดี เสียงไม่ตรง ประสบการณ์น้อย ใช้เวลาทำงานนาน ซึ่งยังต้องแก้อีกหลายขั้นตอน งานแต่ละชิ้นกว่างานจะผ่านได้ก็ใช้เวลานาน

ปัญหาของห้องบันทึกเสียงชั้นนำของไทย แม้จะลงทุนก่อสร้างสูง ลงทุนเครื่องไม้เครื่องมือไปมาก ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐแต่อย่างใด ซึ่งรัฐควรมี นโยบายที่จะช่วยเหลืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อาทิ การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อุตสาหกรรมการบันทึกเสียงดนตรีประกอบภาพยนตร์ อุตสาหกรรมเพลง อุตสาหกรรมบันเทิง อุตสาหกรรมเทคโนโลยีใช้กับธุรกิจบันเทิง อุตสาหกรรมภาพยนตร์การ์ตูน เป็นต้น อุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งสิ้น เป็นธุรกิจของประเทศที่เจริญ อาศัยคุณภาพและศักยภาพความเป็นเลิศด้านทรัพยากรมนุษย์ที่มีฝีมือสูง ซึ่งเป็นธุรกิจระดับนานาชาติ

เมื่อดูอุตสาหกรรมในบ้านเรา ส่วนใหญ่ยังเป็นอุตสาหกรรมหนัก โรงงานอุตสาหกรรม เครื่องจักร โรงเหล็ก อุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น แต่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังไม่อยู่ในความรู้สึกนึกคิด ทั้งรัฐและเอกชน อุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังเป็นนามธรรม มองไม่เห็น และยังไม่มีต้นแบบ

รัฐไทยมีองค์กรที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น เพราะเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิงเป็นเรื่องใหม่สำหรับธุรกิจไทย ไทยยังอยู่ในโลกที่เรียกว่า “วัวสามขา ม้าหกหู” ซึ่งเป็นภาพของประเทศด้อยพัฒนา ในสังคมโลกที่เจริญแล้วจึงต้องไปตามดูสิ่งที่แปลกๆ อาทิ อันซีนไทยแลนด์ (Unseen Thailand) มหัศจรรย์ประเทศไทย (Amazing Thailand) ซึ่งต้องอาศัยธรรมชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วอยู่เผชิญโลกตามธรรมชาติและดำรงอยู่อย่างยถากรรม ตัวอย่าง กะเหรี่ยงคอยาว ลิงปีนเก็บลูกมะพร้าว เงาะป่าซาไกอยู่ในกระท่อมกลางป่า การจับปลาทะเลด้วยมือเปล่า ไม่มีอุปกรณ์ เป็นยิปซีทะเล เป็นต้น

อุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยยังไม่พัฒนา เป็นเรื่องการพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศ การพัฒนาคนให้มีความสามารถสูงในด้านต่างๆ อาทิ ดนตรี กีฬา ศิลปะ การแสดง หน้าที่ของรัฐจะต้องสร้างสาธารณูปโภครองรับ อาทิ มีสนามฟุตบอลระดับโลก สนามชกมวยชิงแชมป์โลก สนามแข่งขันกีฬาระดับโลก มีหอแสดงดนตรีระดับโลก มีพิพิธภัณฑ์แสดงงานศิลปะของโลก มีพื้นที่รองรับคนที่จะมาเที่ยวจากทั่วโลก มีการขนส่งที่ทันสมัย คนทำงานมีประสิทธิภาพ คนมีความพร้อมที่จะให้บริการ ส่งเสริมอุตสาหกรรมโรงแรม อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมความเชื่อ อย่างศาลพระพรหม ไอ้ไข่วัดเจดีย์ หลวงพ่อทวด ระบำแก้บน รวมทั้งระบำแก้ล่าง ซึ่งก็มีส่วนร่วมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งสิ้น

สภาพสังคมไทยในวันนี้ ขาดความพร้อมด้านอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่มีก็ยังน้อยอยู่ แม้เรามีห้องบันทึกเสียงที่ดี มีหอแสดงดนตรีที่ดี เครื่องมือและอุปกรณ์ก็พอมี แต่ด้านบุคลากร อาทิ นักดนตรีในวงออเคสตราโดยเฉพาะเครื่องสาย หายากและมีจำนวนน้อย ต้องสร้างขึ้นมาอย่างเร่งด่วน วิศวกรเสียงก็มีน้อย ทั้งประเทศมีแค่ 2-3 คน ผู้ควบคุมวงออเคสตราแทบจะไม่มีตัว นับเฉพาะผู้ที่มีผลงานในระดับชาติ นักเรียบเรียงเสียงประสาน นักประพันธ์เพลงเพื่อประกอบภาพยนตร์ก็มีน้อย งานอาชีพในด้านนี้จึงยาก สถาบันการศึกษาดนตรีของไทยมีกว่า 50 แห่ง ทุกสถาบันมีความพร้อมน้อยและไม่มีเป้าหมาย ขาดศักยภาพในการผลิตบุคลากรเพื่อสร้างเพลงประกอบภาพยนตร์ ซึ่งรัฐควรมีนโยบายและมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า สถาบันการศึกษาดนตรีต้องผลิตบุคลากรดนตรีออกไปทำอะไร ต้องผลิตคนที่มีฝีมือเป็นนักดนตรี เพื่อรองรับอุตสาหกรรมบันเทิง สร้างวิศวกรเสียงดนตรี รัฐต้องลงทุนงบประมาณผลิตบุคลากรดนตรี ตั้งแต่ผลิตนักดนตรีที่มีฝีมือ ผลิตนักเรียบเรียงเสียงดนตรี ผลิตนักประพันธ์เพลง ผลิตผู้ควบคุมวงออเคสตรา ซึ่งอาจเลือกสถาบันใดสถาบันหนึ่งเพื่อพัฒนาดนตรีประกอบภาพยนตร์

สถาบันอุดมศึกษาไทยที่เปิดสอนวิชาการสร้างภาพยนตร์อย่างจริงจังมีน้อย มีอุปกรณ์น้อย อย่างมากก็ให้นักศึกษาได้เรียนแค่ทฤษฎีแล้วออกไปหาประสบการณ์ในตลาดงานเอง ไม่มีอาวุธที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในงานอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทุกคนทำงานเพื่อขายงานในระยะสั้น มีน้อยเรื่องที่สร้างภาพยนตร์ไทยเพื่อยังให้เกิดปัญญาและเป็นภาพยนตร์ระดับนานาชาติ เพราะเงินลงทุนน้อย

วันนี้สถาบันอุดมศึกษาไทยจำเป็นต้องสร้างคนอย่างมีเป้าหมาย ผลิตคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นอนาคตของภูมิภาคอาเซียน การศึกษาดนตรีและศักยภาพด้านฝีมือนักดนตรีของไทยยังมีโอกาสและมีพื้นที่ในพัฒนา ยังสามารถสร้างความก้าวหน้าได้อีกไกล

ผมขอข้อมูลจากคุณโดม สุขวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญภาพยนตร์ จากข้อมูลของยูเนสโก (UNESCO) พบว่า ในปี พ.ศ.2560 มีการผลิตภาพยนตร์ในอินโดนีเซียกว่า 100 เรื่อง ในไทย เวียดนาม มาเลเซีย มี 60-100 เรื่อง ในกัมพูชา พม่า ฟิลิปปินส์ ผลิตปีละ 20-60 เรื่อง ส่วนในสิงคโปร์และลาว ผลิตต่ำกว่า 20 เรื่อง สำหรับบรูไนนั้น ยังไม่มีข้อมูล มีการทำภาพยนตร์เรื่องแรกไม่กี่ปีนี้เอง ซึ่งมีคนไทยเข้าไปร่วมสร้างด้วย

มีรายงานขององค์กรอิสระ การสร้างภาพยนตร์ของศิลปินอิสระในภูมิภาคอาเซียน ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนทุนจากองค์กรนานาชาติเพื่อสร้างภาพยนตร์ กัมพูชามี 1 เรื่อง อินโดนีเซีย 10 เรื่อง ลาว 2 เรื่อง มาเลเซีย 18 เรื่อง ฟิลิปปินส์ 46 เรื่อง สิงคโปร์ 8 เรื่อง ไทย 7 เรื่อง เวียดนาม 4 เรื่อง พม่าไม่มีหลักฐานการสร้างภาพยนตร์อิสระ รวมแล้วมีการสร้างภาพยนตร์อิสระปีละ 100 เรื่อง กลุ่มสร้างภาพยนตร์อิสระเหล่านี้ต้องอาศัยองค์กรต่างประเทศช่วยเหลือ สรุปว่ามีการสร้างภาพยนตร์ในอาเซียนประมาณปีละ 600 เรื่อง

หากรัฐบาลไทยตื่นตัวเรื่องอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างความพร้อมด้านสาธารณูปโภคขึ้นมารองรับอุตสาหกรรมด้านความบันเทิง ภาพยนตร์ ดนตรี กีฬา ซึ่งนับวันตลาดจะโตขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เล็กๆ แต่สำหรับวงการบันเทิง ดนตรี ภาพยนตร์ ศิลปะ กีฬาแล้ว เป็นตลาดที่ใหญ่ คิดกันง่ายๆ ในการทำเพลงประกอบภาพยนตร์ 1 เรื่อง ใช้งบประมาณ 5-10 ล้านบาท ภูมิภาคอาเซียนมีภาพยนตร์ 600 เรื่องต่อปี ยังไม่รวมภาพยนตร์จากอินเดีย จีน ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา

การพัฒนาวงออเคสตราอาชีพเพื่อรองรับงานบันทึกเสียงเพลงประกอบภาพยนตร์ เป็นธุรกิจใหม่ของอุตสาหกรรมไทย เป็นธุรกิจที่ยังมองไม่เห็น เป็นนามธรรม จับต้องได้ยาก ต้องอาศัยคนที่อยู่ในวงการ คนที่รู้เรื่องคุณภาพ อาศัยคนที่มีฝีมือ มีผลงาน และมีราคาความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งเป็นโอกาสใหม่ของวงการธุรกิจสร้างสรรค์ไทย ในขณะที่เศรษฐกิจไทยยังย่ำแย่อยู่ หากได้สร้างคุณภาพและฝีมือวงออเคสตราขึ้นมารองรับ จะช่วยสร้างรายได้และเป็นตัวเลือกให้กับตลาดภาพยนตร์ได้มากทีเดียว

Let's block ads! (Why?)



"ด้านอุตสาหกรรม" - Google News
July 26, 2020 at 12:00PM
https://ift.tt/2OTAKLK

อาศรมมิวสิก โดย สุกรี เจริญสุข : วงออเคสตราอาชีพ เพื่อบันทึกเสียงประกอบภาพยนตร์ - มติชน
"ด้านอุตสาหกรรม" - Google News
https://ift.tt/2XRQMK3

No comments:

Post a Comment