Pages

Monday, July 6, 2020

โควิด-19 จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจภูเก็ต ดันอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยว รองรับท่องเที่ยวทรุด - ผู้จัดการออนไลน์

takmaulaha.blogspot.com


การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของภูเก็ตอย่างหนัก ทันทีที่มีการประกาศปิดประเทศ และเกาะภูเก็ต ห้ามคนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวหายไปทั้งหมด รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นศูนย์ โรงแรม และกิจการที่เกี่ยวเนื่องต่อการท่องเที่ยวปิดให้บริการทั้งหมด คนตกงานหลายหมื่นคน หลังจากนี้ภูเก็ตไม่สามารถเดินหน้าต่อด้วยการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว จำเป็นที่จะต้องผลักดันให้มีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว เข้ามาสนับสนุนและผลักดันเศรษฐกิจของภูเก็ตต่อไป

จังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำรายได้เข้าประเทศปีละ 4 แสนล้านบาท จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาปีละ 14.4 ล้านคน มีการคาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของภูเก็ตไม่น้อยกว่า 160,000 ล้านบาท โดยมีตัวเลขประมาณจำนวนนักท่องเที่ยวตลอดปี 2563 เหลือเพียง 5 ล้านคน จาก 14.4 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวคนไทยไม่เกิน 1.5 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ไม่เกิน 3.5 ล้านคน

นอกจากนี้ ความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ยังแสดงให้เห็นว่าจังหวัดภูเก็ตมีความต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ควบคู่กันไปกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากที่ผ่านมา จังหวัดภูเก็ตพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก 80-90% ของรายได้ทั้งหมด เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงทำให้เศรษฐกิจของภูเก็ตได้รับผลกระทบอย่างมาก

จำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ภาคเอกชน 12 องค์กรด้านการท่องเที่ยว ได้จัดทำหนังสือปกขาวนำเสนอแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภูเก็ต โดยกำหนดแผนออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น การฟื้นฟูเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2563 จังหวัดภูเก็ตจะต้องเร่งดึงนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาท่องเที่ยวให้มากที่สุด เพื่อรองรับห้องพักโรงแรมที่มีอยู่ให้ได้ 40% ของจำนวนห้องพักที่มีกว่า 200,000 ห้อง โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่จะเดินทางเข้ามาภูเก็ตด้วยโปรแกรม Alternative State Quarantine หรือ ASQ โดยเข้ามากักตัวในโรงแรมที่เพื่อให้มั่นใจถึงความปลอดภัย โดยทางโรงแรมและรีสอร์ตสามารถจัดเตรียมพื้นที่แยกเฉพาะให้แก่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ที่ต้องการพักฟื้นชั่วคราวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในประเทศตัวเอง โดยมุ่งไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือประเทศในตะวันออกกลาง เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยโรงแรมสามารถเข้าร่วมโครงการกับโรงพยาบาลในภูเก็ต โดยคาดว่าหลังจากที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อยู่สู่โครงการ ASQ ตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะพักอยู่ในภูเก็ตระยะยาว 3-6 เดือน โดยทางภาครัฐอำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ เช่น วีซ่าที่สามารถให้อยู่ยาวได้ การทำสัญญาเช่าอาคารพักอาศัย รวมถึงการทำประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ

กลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาภูเก็ตในเร็วๆ นี้ ตามโครงการ Travel Bubble จากกลุ่มประเทศที่ปลอดภัยจากโควิด-19 ที่มองไว้ในหลายเมืองในจีน เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว โดยคาดว่ากลุ่มนี้จะเริ่มเข้ามาในเดือนตุลาคมนี้ ถึงกลุ่มที่มารักษาและดูแลสุขภาพ Medical Hub และกลุ่ม knowledgeable workers เป็นต้น


ส่วนแผนระยะกลางนั้น ภูเก็ตจำเป็นที่จะต้องพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ควบคู่กับการท่องเที่ยว เพื่อรองรับเศรษฐกิจของภูเก็ตในภาวะที่การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยวให้แก่ภูเก็ต เน้นไปยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ซึ่งทางภาคเอกชนภูเก็ตมองว่าอุตสาหกรรมที่จะสร้างรายได้และความยั่งยืนให้เกาะภูเก็ตทดแทนนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มากันเป็นจำนวนมากๆ แต่รายได้เกิดขึ้นน้อย หรือกลุ่ม mass ประกอบด้วย

อุตสาหกรรมมารีน่า ที่ภูเก็ตมีความพร้อมทั้งในเรื่องของธรรมชาติและมารีน่า ที่มีถึง 5 แห่ง เป็นมารีน่าเอกชน 4 แห่ง และภาครัฐ 1 แห่ง ในการรองรับเรือยอชต์ เรือครุยส์ และเรืออื่นๆ ซึ่งคาดว่าอุตสาหกรรมมารีน่าจะสามารถสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในภูเก็ตไม่ต่ำกว่า 21,600 ล้านบาทต่อปี

อุตสาหกรรมการศึกษา พัฒนาให้ภูเก็ตเป็นแหล่งที่ตั้งของสถาบันการศึกษาระดับนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันภูเก็ตมีโรงเรียนนานาชาติ 12 แห่ง และยังมีโรงเรียนนานาชาติอีก 3 แห่ง ที่จะเกิดขึ้นในภูเก็ต และโรงเรียนนานาชาติเหล่านี้ยังมีหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับจากสถาบันต่างๆ ทั่วโลกให้ผู้ปกครองได้เลือก ทำให้กลุ่มผู้ปกครองทั้งคนไทยและต่างชาติส่งบุตรหลานมาเรียนที่ภูเก็ตในขณะนี้ประมาณ 3,600 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ภูเก็ตได้มากกว่าปีละ 2,100 ล้านบาท

อุตสาหกรรม Health and Wellness การให้บริการทางการแพทย์ และด้านสุขภาพ โดยมีเป้าหมายดึงคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 และต้องการย้ายถิ่นฐานเพื่อความปลอดภัยจากโควิด-19 กลุ่มผู้บริหารและนักธุรกิจต่างชาติที่ต้องการมาภูเก็ตเพื่อพักผ่อนและดูแลสุขภาพ และกลุ่มผู้สูงวัยที่เกษียณอายุที่อาศัยในภูเก็ต จากความพร้อมของภูเก็ตในเรื่องของสถานพยาบาล แพทย์ บุคลากร ซึ่งคาดว่าอุตสาหกรรม Health and Wellness จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่จังหวัดภูเก็ตปีละกว่า 4,000 ล้านบาท

อุตสาหกรรมปลาทูน่า โดยการพัฒนาให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางในการขึ้นปลาทูน่าจากเรือเบ็ดราวของต่างชาติที่จับปลาทูน่าในมหาสมุทรอินเดีย เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ปีละ 200 ลำ สร้างมูลค่าร่วมทางเศรษฐกิจส่งออกปลาทูน่า 1,300 ล้านบาทต่อปี

อุตสาหกรรมอาหารท้องถิ่น (Phuket Gastronomy) จากที่ภูเก็ตถูกบรรจุในเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร หรือ Gastronomy ของยูเนสโก 18 เมืองทั่วโลก และแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการผลิตวัตถุดิบท้องถิ่นและความสามารถในการพัฒนารูปแบบอาหารใหม่โดยดำรงคุณค่าของวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าปีละ 91,000 ล้านบาท

กิจกรรมสันทนาการและกีฬา Sports and Event เป็นกิจกรรมเสริมจากการพักแรมของนักท่องเที่ยวและทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบจำนวนมาก เพราะภูเก็ตเป็นแหล่งดึงดูดกิจกรรม เช่น การถ่ายภาพแต่งงาน การวิ่งเทรล การเล่นเซิร์ฟ เป็นต้น สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ภูเก็ตไม่ต่ำกว่าปีละ 1,600 ล้านบาท

รวมถึงการดึงกลุ่มแรงงานที่มีทักษะสูงมาทำงานในภูเก็ต การพักอาศัยระยะยาว และการพักอาศัยของกลุ่มผู้ที่อาศัยเป็นครอบครัว เมื่อรวมกับอุตสาหกรรมทั้งหมดที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นในภูเก็ต จะทำให้มูลค่ารวมทางเศรษฐกิจของภูเก็ตหลังการปรับทิศทางเศรษฐกิจปีละ 368,0000 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ใกล้เคียงกับรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวของภูเก็ต ที่นักท่องเที่ยวเข้ามาปีละ 14.4 ล้านคน สร้างรายได้ 4.4 แสนล้านบาท


โดยในระยะยาวนั้น ภูเก็ตจะต้องดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ 4 M 3 S ตามแผนพัฒนาภูเก็ต ปี 2561-2565 โดย 4M ประกอบด้วย การพัฒนาและส่งเสริมให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเล (Marina Hub) ศูนย์กลางทางการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Hub) ศูนย์กลางการประชุมและจัดนิทรรศการนานาชาติ (Mice Hub) ศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว และเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ส่วน 3 S ประกอบด้วย ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism) ศูนย์กลางเมือง Digital (Smart City) และการพัฒนาโดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างสมดุลในทุกด้าน (Sustainable Development)

หากภูเก็ตสามารถเดินไปตามแผนที่กำหนด จะทำให้เศรษฐกิจของภูเก็ตเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวอย่างเช่นในปัจจุบัน ในอนาคตหากเกิดสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างหนัก เหมือนกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจของภูเก็ตก็ยังสามารถที่จะเดินต่อไป ไม่หยุชะงักตามสถานการณ์การท่องเที่ยว

Let's block ads! (Why?)



"ด้านอุตสาหกรรม" - Google News
July 07, 2020 at 11:10AM
https://ift.tt/3f9z4JI

โควิด-19 จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจภูเก็ต ดันอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยว รองรับท่องเที่ยวทรุด - ผู้จัดการออนไลน์
"ด้านอุตสาหกรรม" - Google News
https://ift.tt/2XRQMK3

No comments:

Post a Comment